เราเชื่อว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเสมอไม่ว่าเราจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม และถ้าเราอยากรู้ว่า วัฒนธรรมองค์กรของเราที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร ให้ลองสังเกตว่า อะไรคือ “พฤติกรรมที่พนักงานทำในตอนเจ้านายไม่อยู่” ซึ่งแน่นอนว่าวัฒนธรรมองค์กรที่ดี คือสิ่งที่พนักงานทำตอนเจ้านายไม่อยู่ ในแบบที่เราอยากเห็น และตั้งใจให้เกิดขึ้น
จุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมองค์กร คือการกำหนดวัฒนธรรมในแบบที่เราอยากเห็น โดยที่วัฒนธรรมนั้นต้องมาเพื่อตอบโจทย์วิสัยทัศน์องค์กร สอดคล้องกับกลยุทธ สร้างความผูกพันธ์ในองค์กร และที่สำคัญคือ ต้องสะท้อนตัวตนของผู้บริหาร ไม่อย่างนั้น เมื่อวันที่วัฒนธรรมองค์กรขับเคลื่อนไปแล้ว ไม่ใช่แค่จะเป็น Role model ไม่ได้ จะกลายเป็นผู้บริหารเองที่ culture ไม่ fit และนำมาซึ่งความสับสนภายในองค์กร
ค่านิยมองค์กร จึงเป็นตัวแทนของสิ่งที่คนทั้งองค์กรให้ความสำคัญ และยึดถือร่วมกันในการทำงาน แต่อุปสรรคอย่างหนึ่งที่หลายองค์กรพบเจอ คือการที่ไม่สามารถนำค่านิยมออกจากฝาผนังไปสู่การปฏิบัติจริงได้ในการทำงาน ถึงแม้จะมีการสื่อสารและได้รับความร่วมมือจากพนักงานก็ตาม ปัจจัยสำคัญหนึ่งคือนอกเหนือจากการกำหนดชุดค่านิยมแล้ว คือการสร้าง “ชุดพฤติกรรม” ที่คาดหวัง ให้กับค่านิยมแต่ละตัวด้วย
ตัวอย่างเช่น Netflix จะมีการระบุพฤติกรรมควบคู่มากับค่านิยมองค์กร เพื่อสื่อสารความคาดหวังที่มีต่อพนักงานให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันอย่างชัดเจน
มีการระบุชุดพฤติกรรม ของ ค่านิยม Courage
• คุณพูดในสิ่งที่คิดเมื่อสิ่งนั้นเป็นประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร ถึงแม้ว่ามันน่าอึดอัด
• คุณตัดสินใจเรื่องยาก ๆ ได้ โดยไม่จมอยู่กับมัน
• คุณรับความเสี่ยงที่ประเมินแล้วว่าคุ้มค่าและพร้อมรับความผิดพลาด
• คุณตั้งคำถามกับการกระทำหรือพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมขององค์กร
• คุณสามารถเปิดเผยความอ่อนแอได้เพื่อค้นหาความจริง
ดังนั้น ชุดพฤติกรรมที่ควรเป็นสิ่งที่มาสะท้อนค่านิยมในเชิงปฏิบัติ และตอบโจทย์หลัก ๆ 3 ประการ
1. เป็นพฤติกรรมที่พาองค์กรมุ่งสู่เป้าหมายและวิสัยทัศน์ในฐานะค่านิยมตัวนั้น ๆ
2. เป็นพฤติกรรมที่แก้ปัญหา และปิดจุดอ่อน หรืออุปสรรคที่องค์กรมีอยู่
3. เป็นพฤติกรรมที่มีอาจจะยังไม่เกิดขึ้นมากนัก แต่คุ้มค่าที่จะออกแรงผลักดัน
นอกจากนี้ ควรมี 3 ลักษณะ ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เป็นพฤติกรรมที่นำไปใช้ขับเคลื่อนได้จริง คือ พฤติกรรมนั้นต้อง สังเกตได้, วัดประเมินผลได้ และ ปรับใช้ได้ทั้งองค์กร (อ่านเพิ่มเติม https://www.brightsidepeople.com/3-ลักษณะสำคัญของชุดพฤติก/ )
ความสำคัญของ ชุดพฤติกรรม ภายใต้ค่านิยม ไม่ใช่เพียงแค่ ทำให้พนักงานเข้าใจได้ตรงกันเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสารตั้งต้น ในการต่อยอดและขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่น
1. สร้าง Culture Deck เพื่อใช้ในการสื่อสาร
Culture Deck เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารวัฒนธรรองค์กรและสิ่งสำคัญขององค์กรได้อย่างชัดเจน สถานการณ์ที่ถูกใช้บ่อย ๆ จะใช้ในกระบวนการ On Boarding พนักงานใหม่ หรือ Town hall การประชุมครั้งสำคัญขององค์กร
2. ฝังเข้าไปในระบบองค์กร
บทบาทสำคัญของ ชุดพฤติกรรม ในฐานะสารตั้งต้นที่ชัดเจน ที่ขาดไม่ได้เลย คือการนำชุดพฤติกรรมนั้นฝังเข้าไปในระบบต่าง ๆ ขององค์กร โดยเฉพาะระบบ HR ตั้งแต่การนำไปสร้างเป็นข้อคำถาม เพื่อใช้ในกระบวนการสัมภาษณ์ คัดเลือกพนักงาน, ชุดคำถามในการประเมินผลการดำเนินงานบนพื้นฐานของวัฒนธรรมองค์กร, การออกแบบโปรแกรมพัฒนาพนักงาน รวมถึงการให้รางวัล และการให้ feedback ที่อยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมองค์กรทั้งสิ้น
3. วัดผลวัฒนธรรมองค์กร
หากมีพฤติกรรมที่ชัดเจน ก็สามารถนำไปสร้างแบบสอบถาม เพื่อประเมินสุขภาพของวัฒนธรรมองค์กร (Culture Health Check Survey หรือ Culture Insight Survey) เพื่อประเมินดูว่าพฤติกรรมในแบบที่เราอยากเห็น ได้เกิดขึ้นจริงแล้วมากน้อยแค่ไหน และนำผลการประเมินสุขภาพ ไปวางแผนเพื่อพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เสริมแรงและชื่นชมพฤติกรรมที่เป็นจุดเด่น วางแผนแก้ไขและพัฒนาส่วนที่ยังขาด
ความสามารถของ ชุดพฤติกรรม ไม่ได้มีแค่ 3 อย่างนี้เท่านั้น ตามที่ได้กล่าวไปในตอนต้น ว่า ชุดพฤติกรรม เป็นเพียงสารตั้งต้น ให้เราได้หยิบใช้ในการสร้างการขับเคลื่อนให้วัฒนธรรมองค์เกิดขึ้นได้จริง เพราะฉะนั้นวิธีการ และรูปแบบสามารถขึ้นอยู่กับบริบท เป้าหมาย และตัวตนขององค์กรนั้นในแบบที่ไม่ตายตัว เพราะฉะนั้น มาสร้างพฤติกรรมที่พนักงานทั้งองค์กรทำตอนเจ้านายไม่อยู่ ในแบบที่เราอยากเห็นและอยากให้เป็นกัน
A Cup of Culture
———–
#วัฒนธรรมองค์กร
#corporateculture
#organizationalculture
.
.
>>>>
.
.
>>>