“ในไม่ช้าเราจะบอกลาแบรนด์ Twitter และนกฟ้าทุกตัว” นี่คือทวีตข้อความจากมหาเศรษฐีหนุ่มซึ่งเป็นทั้งนักธุรกิจและนักลงทุน อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซึ่งได้เทกโอเวอร์ Twitter ไปเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา และไม่ทันที่ควันไฟจะเบาบางลงข่าวเดือดที่ทำเอาโลกโซเซียลร้อนระอุในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาก็เกิดขึ้น การรีแบรนด์แพลตฟอร์มจาก Twitter โลโก้นกฟ้าที่คุ้นเคย ไปสู่ตัวอักษร “X” บนพื้นหลังดำเข้มที่มาพร้อมกับคำว่า “everything app.”
Linda Yaccarino ซีอีโอคนใหม่ของทวิตเตอร์กล่าวว่า “ X คือ อนาคตที่ไร้ข้อจำกัด – คือศูนย์กลางของเสียง วิดีโอ การส่งข้อความ การชำระเงิน/การธนาคาร – การตลาดระดับโลก ร่วมไปถึงศูนย์กลางของแนวคิด สินค้า บริการ และโอกาสต่างๆ ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดย AI แพลตฟอร์มนี้จะกลายเป็นทุกอย่างของผู้คน…” แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ย่อมมีทั้งผู้คนที่ชื่นชอบและแฟนทวิตเตอร์จำนวนมากที่ไม่พอใจ
วันนี้พอดแคสต์ A Cup of Culture จะมาชวนคุณผู้ฟังวิเคราะห์ในมุมของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ Twitter รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรที่เกิดขึ้นในยุคของอีลอน มัสก์ ดังนี้
1. จัดระเบียบหรือ “สังหารหมู่”
ย้อนกลับไปช่วงหลังจากมีการเทกโอเวอร์ มัสก์ได้อ้างว่า… เขาจะ “จัดระเบียบ” วัฒนธรรมของ Twitter ใหม่
– FACT: แต่ในมุมมองของนักวิเคราะห์กลับมองว่านี่เหมือนเป็นการสังหารหมู่มากกว่าการเปลี่ยนแปลง เพราะภายในสัปดาห์แรก Musk ได้เลิกจ้างพนักงาน Twitter ไปมากถึง 50%
2. ทำงานให้มากขึ้นและ “หนักขึ้น”
ข้อเรียกร้องแรกจากมัสก์คือ การส่งอีเมลถึงพนักงานโดยประกาศว่า “ความทุ่มเทที่มากขึ้นจะนำไปสู่ความสำเร็จ” ซึ่งคือ “การที่พนักงานต้องทำงานให้มากขึ้น ด้วยความเข้มข้นและทุ่มเทอย่างหนักเท่านั้นจึงจะถือว่า “ผ่านเกณฑ์”
ซึ่งจากข้อความนี้สะท้อนถึงตัวตนของมัสก์ได้อย่างชัดเจน เพราะเขาเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นคนทำงานหนักมาก ซึ่งเห็นได้จากความทุ่มเทที่เขามีให้กับบริษัทก่อนหน้านี้อย่าง SpaceX และ Tesla ซึ่งก็สอดคล้องกับรายงานจำนวนมากที่อ้างว่า Musk ทำงานมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ บางครั้งถึงกับนอนในออฟฟิศด้วยซ้ำ และนี่คือสิ่งที่เขาคาดหวังว่าพนักงานของเขาต้องเป็นแบบนี้ด้วย
– FACT: การศึกษาหลายชิ้นได้ยืนยันว่า “hours put in” ไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับ “quality” มุมมองของ Liberty Mind มองว่า “การเชื่อว่าชั่วโมงการทำงานที่มากจะสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่คำตอบของโลกปัจจุบัน” แน่นอนว่าความคิดนี้อาจใช้ได้ผลในยุคอุตสาหกรรมโรงงานช่วงปี 1900 แต่มันอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน – วัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นไปที่ Mission และ Outcomes ที่องค์กรต้องการ การทำงานร่วมกัน และความรู้สึกปลอดภัย ความรู้สึกมั่นใจในสภาพแวดล้อมการทำงานของพวกเขาต่างหาก ที่จะก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ หรือไอเดียสร้างสรรค์
3. ทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ในยุคของการบริหารโดย Jack Dorsey การทำงานทางไกลเป็นสิ่งที่ได้รับการส่งเสริมในทวิตเตอร์ แต่หลังจากมัสก์เข้ามาเขาได้ยกเลิกระบบนี้ทันที รายงานจาก Bloomberg ได้กล่าวว่ามันก์ได้อีเมลถึงเจ้าหน้าที่ Twitter ซึ่งระบุว่าพนักงานจะต้องอยู่ในออฟฟิศอย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมัสก์เชื่อในวัฒนธรรมองค์กรแบบ “Office-first Culture” เป็นอย่างมาก
– FACT: การศึกษาวิจัยและข้อมูลจำนวนมากต่างพิสูจน์แล้วว่า “การทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานช้าลง” ในทางตรงกันข้ามการให้อิสระและความยืดหยุ่นต่างหากที่ช่วยสนับสนุนผู้คนให้สร้างผลงานออกมาได้ดีที่สุด
4. ความโปร่งใสถูกแทนที่ด้วยระบบราชการ
ก่อนการเข้ามาของมัสก์ องค์กร Twitter เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะองค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบโปร่งใส ซึ่งปัจจุบันความโปร่งใสถูกแทนที่ด้วยความลับและระบบราชการ ในเอกสารรายงานจากพนักงานของ Twitter พบว่าตัวเองถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงข้อมูลและเอกสารต่างๆ (ทั้งๆ ที่ในอดีตเคยสามารถเข้าถึงได้)
– FACT: ระบบราชการเป็นศัตรูของคำว่า “นวัตกรรม” ระบบราชการสร้างไซโล ทำให้ผู้คนกังวลมากเกินไปกับการเมืองภายใน และทำให้บริษัทช้าลง ในทางตรงกันข้าม “ความโปร่งใส” กลับสร้างการรับรู้และส่งเสริมคำว่านวัตกรรมมากกว่า ทีมเปิดกว้างในการทำงานร่วมกันมากขึ้น เข้าใจว่าผลการปฏิบัติงานของพวกเขาส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างไร และสามารถระบุได้ว่าจุดใดที่อาจขัดขวางการทำงาน
————
บทสรุป — เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับทิศทางของ “X” ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ จะเป็นเส้นทางแบบ “Short-term pain for long-term gain” (เจ็บปวดระยะสั้นเพื่อผลประโยชน์ระยะยาว) หรือเปล่า? หรือจะเป็นเส้นทางที่ทาเล้นท์เพียงเข้ามาเพื่อ “ลอง” แล้วก็เดินจากไปเพราะไม่ใช่องค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการเติบโตของพวกเขา
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.