จากรายงาน Deloitte Global 2022 Gen Z and Millennial survey เหตุผลหลักที่ทำให้พนักงานทั่วโลกยังคงลาออกอย่างต่อเนื่อง มาจากภาวะความเครียดและอาการหมดไฟ (burnout)
ไม่ว่าเราจะทำอาชีพอะไร มันอาจสำคัญหรือไม่สำคัญก็ได้ที่เราจะได้ทำในสิ่งที่รัก (passion) แต่มันจำเป็นมาก ๆ ที่อย่างน้อยเราต้องมีรากฐานความเชื่อหรือสิ่งที่เราให้คุณค่าในชีวิตเอาไว้ยึดโยง และเลือกเส้นทางอาชีพที่ส่งเสริมคุณค่าเหล่านี้ มิเช่นนั้น เราก็อาจกลายเป็นคนที่เกิดความเครียดจนหมดไฟไปอีกคนในที่สุด
อาชีพ บริษัท เจ้านาย และเพื่อนร่วมงานล้วนไม่ใช่สิ่งที่จีรังยั่งยืน คือ มาแล้วก็ไป แต่คุณค่าที่เรายึดถือนั้นจะยังคงอยู่เสมอและไม่ค่อยเปลี่ยน ดังนั้น หากเรากำลังชายตามองหาโอกาสใหม่ ๆ ให้ตัวเองอยู่ การพิจารณาตัวเลือกต่าง ๆ โดยดูจากตำแหน่ง ผลตอบแทน หรือภาพลักษณ์องค์กรอาจไม่เพียงพออีกต่อไป แต่เราควรหยิบยกเรื่องสุขภาพจิตมาพิจารณาด้วย และต่อไปนี้คือ 4 แนวทางที่จะช่วยให้เราเลือกอาชีพที่ใช่ ทั้งยังส่งเสริมสุขภาวะกายใจให้ดีอีกด้วย
1. นิยามความหมายของสุขภาพจิตที่ดีในแบบฉบับของเรา
เราทุกคนล้วนมีความต้องการในชีวิตที่แตกต่างกัน เพื่อตอบให้ได้ว่าอะไรที่ส่งเสริมการมีสุขภาพจิตที่ดี เราอาจถามคำถามเหล่านี้กับตัวเอง
• วิธีการทำงานในแบบฉบับของเรา เราให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง
• อะไรในงานที่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและมีแรงบันดาลใจ
• อะไรที่กระตุ้นให้เราอยากทำงานให้ออกมาดีที่สุด
ลองถามคำถามเหล่านี้กับตัวเองดู เพราะแต่ละคนก็จะได้คำตอบที่ต่างกันออกไป คนที่ให้คุณค่ากับความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมย่อมชอบทำงานในบริษัทแบบสตาร์ทอัพ ในขณะที่คนที่ชอบความมั่นคงและกิจวัตรประจำวันที่ไม่หวือวา วางแผนล่วงหน้าได้ ก็ย่อมชอบทำงานในองค์กรขนาดใหญ่หรือหน่วยงานราชการ เป็นต้น การรู้จักตัวเอง รู้ว่าชอบอะไร สบายใจที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเลือกงานที่ใช่ ทั้งยังส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีและลดภาวะความตึงเครียดในระยะยาว
2. เลือกเส้นทางที่ส่งเสริมทักษะที่มีอยู่ในปัจจุบันมากกว่าทำตามแพชชั่น
บทความนี้หยิบยกตอนหนึ่งของหนังสือ So Good They Can’t Ignore You มีใจความว่า การพร่ำบอกให้ทุกคนทำตามแพชชั่นของตัวเองไม่เพียงแค่ผิด แต่ยังอันตรายมากด้วย การบอกให้คนอื่นทำตามหัวใจของตัวเองนอกจากจะถือเป็นคำพูดโดยปราศจากความรับผิดชอบของผู้พูดแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดของความสับสนในเส้นทางอาชีพในภายภาคหน้าด้วย
ในทางตรงกันข้าม เราทุกคนควรโฟกัสที่การพัฒนาต่อยอดทักษะที่มีอยู่เดิม และมองหาโอกาสที่ให้คุณค่ากับทักษะเหล่านี้ที่เรามี
3. ศึกษาและทำความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทที่เราสนใจ
หนึ่งในสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่เป็นบ่อเกิดของสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ คือ วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ (toxic culture) อย่างไรก็ดี น้อยคนนักที่จะถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมขององค์กรในระหว่างถูกสัมภาษณ์ ด้วยอาจกังวลว่าจะถูกตีความไปในทางที่ไม่ดีหรือเปล่า
ซึ่งอันที่จริง นี่ถือเป็นหนึ่งในคำถามที่มีประโยชน์สูงสุดต่อทั้งเราและองค์กร เพราะสะท้อนให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญว่าความสัมพันธ์ต่อว่าที่เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า และบริษัทในภายภาคหน้าจะไปได้ดีหรือไม่
นอกเหนือจากการถามตรง ๆ ระหว่างถูกสัมภาษณ์ เรายังสามารถเข้าถึงข้อมูลวงในเหล่านี้ได้จากการทักไปสอบถามว่าที่เพื่อนพนักงานผ่าน LinkedIn โดยถามเพื่อเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุดก่อนทำการยอมรับหรือปฏิเสธข้อเสนอ
4. ทำการบ้านเพิ่มเติมเพื่อยืนยันคำตอบสุดท้าย
การทำการบ้านในที่นี้ อันที่จริงก็คือการยืนยันว่าข้อมูลที่เราหามาได้จากข้อหนึ่งถึงสามนั้นถูกต้องไม่มากก็น้อย อาจถามซ้ำจากคนที่เรา connect ไว้ก่อนหน้า หรือคนรู้จักที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกันภายใต้ลักษณะองค์กรที่มีสภาพแวดล้อมเดียวกันก็ได้ ว่าเขามีชีวิตประจำวันอย่างไร ใช่สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมคุณค่าที่เรายึดถือจากข้อหนึ่งหรือไม่ มีเส้นทางความก้าวหน้าที่ชัดเจนให้กับทักษะติดตัวเราแบบข้อสองมั้ย และสุดท้ายคือวัฒนธรรมองค์กรส่งเสริมให้เรามีชีวิตในแบบที่เราลำดับความสำคัญเอาไว้หรือเปล่า
ด้วยสี่แนวทางข้างต้นนี้ จากความคิดที่ฟุ้งซ่าน ตัวเลือกในมือนับนิ้วไม่หมด เปรียบดั่งการล่องเรือท่ามกลางทะเลโดยปราศจากหางเสือ ก็อาจช่วยให้เราโฟกัสไปที่เส้นทางที่ถูกต้องจริง ๆ ตอบโจทย์ทั้งความก้าวหน้าในอาชีพและปกป้องสภาพจิตใจของเราให้ปลอดภัยอยู่เสมอ ความไปด้วยกันไม่ได้ของทั้งสองอย่าง ในที่สุดก็อาจกำลังจะมาบรรจบกันในการสมัครงานครั้งถัดไปของเราก็เป็นได้
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.