ในช่วงต้นปี หลายท่านอาจวางแผนกิจกรรมเด็ด ๆ มากมายเพื่อจะส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ แต่ในช่วง Social Distancing แบบนี้ กิจกรรมที่วางไว้อาจจะต้องพับเก็บไปก่อน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการสร้างวัฒนธรรมองค์กรจะต้องหยุดไปด้วย A Cup of Culture มีอีกหนึ่งเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้แม้ว่าจะอยู่ในช่วง Social Distancing ซึ่งใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา  และที่สำคัญ ไม่มีค่าใช้จ่ายเลยสักบาท
.
.

เครื่องมือที่ว่าก็คือ “การใช้คำถาม” นั่นเอง คำถามเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการช่วยให้ผู้ฟังได้คิด เข้าใจ และสร้างสรรค์วิธีการ และแนวทางใหม่ ๆ แต่ที่น่าเสียดายคือ เรายังใช้ประโยชน์จากการใช้คำถามน้อยมาก

ลองนึกดูว่าในวันที่ผ่านมา เราได้ใช้คำถามอะไรบ้าง?
วันนี้ A Cup of Culture จะชวนมายกระดับคำถามเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้
.
.

1. ตั้งคำถามจากค่านิยมหลัก (Core Values) ทบทวนว่า ค่านิยมหลักขององค์กรเรามีอะไรบ้าง แล้วลองตั้งคำถามที่สะท้อนค่านิยมที่มีอยู่ เช่น

ค่านิยม: ความใส่ใจ (Care)

ตัวอย่างคำถาม

งานที่ได้รับมอบหมายใหม่เป็นยังไงบ้าง มีตรงไหนที่พี่ช่วยได้บ้าง?

(เป็นตัวอย่างในการแสดงความใส่ใจในเรื่องงาน และให้การสนับสนุน)

Work from home มา 2 สัปดาห์แล้ว มีติดขัดตรงไหนบ้าง?

(ส่งเสริมความใส่ใจแม้เรื่องส่วนตัวของทีมงานตามความเหมาะสม)

ถ้าตอนนี้เราเป็นฝ่ายขาย เราอยากได้ยินอะไร?

(ชวนคิดถึงความใส่ใจต่อการทำงานร่วมกัน)

ถ้าลูกค้าคนนี้เป็นคนในครอบครัวเรา เราจะตัดสินใจในเคสนี้ยังไง?

(ส่งเสริมการตัดสินใจด้วยความใส่ใจ)

เราจะทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึกถึงความใส่ใจได้บ้าง?

(ส่งเสริมการส่งความใส่ใจต่อไปยังการรับรู้ของลูกค้า)

.
.
.

2. ตั้งคำถามจากคำจำกัดความ หรือ ชุดพฤติกรรมของค่านิยมหลัก ถ้าคิดคำถามไม่ออก ลองทบทวนที่คำจัดกัดความหรือชุดพฤติกรรมที่กำหนด เช่น

ค่านิยม: มุ่งเน้นผลลัพธ์ (Focus on Outcomes)

คำจำกัดความ       ยึดมั่นต่อเป้าหมาย และผลลัพธ์ ทั้งต่อลูกค้าและทีมงาน

ชุดพฤติกรรม       1. ยึดมั่นต่อเป้าหมายร่วมกัน 2. ทำอย่างต่อเนื่องเพื่อเกิดผลลัพธ์

ตัวอย่างคำถาม

เป้าหมายในสัปดาห์นี้ของเราคืออะไร?

(ส่งเสริมการตั้งเป้าหมายร่วมกัน)

สิ่งที่เราทำอยู่จะทำให้เราได้ตามเป้าหมายหรือไม่?

(ส่งเสริมการทบทวนกระบวนการที่ส่งเสริมเป้าหมาย)

คิดยังไงกับผลลัพธ์ที่ได้ในวันนี้?

(ส่งเสริมการประเมินผลลัพธ์ระหว่างการทำงาน)

ถ้าเราทำได้ตามเป้าหมาย คิดว่าผลที่จะได้รับคืออะไร?

(สร้างแรงบันดาลใจต่อการไปถึงเป้าหมายร่วมกัน)

3. เพิ่มชุดคำถามด้วย Keywords   ถ้าเริ่มถามวน ๆ ซ้ำ ๆ สามารถเพิ่มชุดคำถามได้อีกโดยการระบุ Keywords ของค่านิยมนั้น ๆ เช่น

ค่านิยม: มุ่งนวัตกรรม (Innovations)

Keywords: สิ่งใหม่ สร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่า แตกต่าง เห็นใจ ใช้ข้อมูล กล้าเสี่ยง กล้าลอง ความคิดเห็น สำรวจ เติบโต ลดกระบวนการ ลดค่าใช้จ่าย ได้ผลกำไร ง่ายขึ้น ข้อกฎหมาย พัฒนา ตอบโจทย์…

ตัวอย่างคำถาม

เราจะช่วยแก้ปัญหาที่ผู้ใช้งานเผชิญอยู่ได้ยังไงบ้าง?

(ส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจ และใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์)

สิ่งที่เรากำลังทำจะสร้างความแตกต่างได้อย่างไร?

(ส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์เพื่อความแตกต่าง)

ถ้าเราไม่ติดเรื่องงบประมาณ เราจะทำอะไรเพื่อให้โครงการนี้สำเร็จ?

(ส่งเสริมการสร้างไอเดียแบบก้าวข้ามขีดจำกัด)

.
.
และนี่คือตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้ได้ ลองเขียนชุดคำถามของแต่ละค่านิยมเผื่อไว้ใช้ในแต่ละสถานการณ์ เพื่อสะท้อนค่านิยม และส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในแต่ละวันได้

แม้ว่าหลาย ๆ องค์กรต้องหยุดการผลิต ลูกค้าจะระงับโครงการ แต่อย่าลืมว่าวัฒนธรรมองค์กรยังคงดำเนินต่อไปไม่มีหยุดแม้ว่าเราจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม วันนี้ก่อนจะมองหาคำตอบที่โดนใจ ลองเปลี่ยนเป็นการเริ่มต้นแต่ละวันด้วยคำถามดี ๆ กันนะ

A Cup of Culture

Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn